Heavy Metals โลหะหนักใกล้ๆตัว
"สารโลหะหนัก" อันตรายใกล้ๆตัว
นิเกิล(Nickel)
มักพบนิเกิล และสารประกอบนิเกิลในดิน น้ำ สัตว์ และพืช โดยนิยมนำไปผสมกับโลหะเพื่อเพิ่มความแข็ง และความเป็นมันวาวในเครื่องประดับ เหรียญ นิเกิลจะถูกดูดซึมบริเวณลำไส้เล็ก และสะสมบริเวณกระดูก ตับ ปอด และไต ถ้ามีนิเกิลสะสมในร่างกายปริมาณมากจะส่งผลให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการไอ จาม ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย และมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งที่ปอด ทั้งนี้ปริมาณนิเกิลในน้ำทิ้งจากโรงงาน ไม่เกิน 1 มก. ต่อ ลิตร ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 199 ปี2543 กำหนดปริมาณนิเกิลในน้ำแร่ธรรมชาติ น้อยกว่า 0.02 มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ธรรมชาติ 1 ลิตร
ดีบุก(Tin)
แหล่งแร่ดีบุกมีเฉพาะภูมิภาคบางแห่งของโลก ไทยเป็นแหล่งแร่ดีบุกใหญ่แห่งหนึ่งในโลก ดีบุกสะสมอยู่ในพืชได้น้อยกว่าตะกั่ว กระป๋องบรรจุอาหารทำจากแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก เพื่อป้องกันการกัดกร่อนของเหล็ก และเคลือบทับด้วยสารสังเคราะห์บางประเภทอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันดีบุกละลายผ่านออกมา แต่หากนำไปบรรจุอาหารที่มีสารบางชนิดปนอยู่หรือการเก็บอาหารกระป๋องในที่ร้อน ดีบุกจะละลายมาในอาหารได้ นอกจากนั้นเมื่อเปิดกระป๋องแล้วออกซิเจนจากอากาศจะเป็นตัวเร่งให้ดีบุกละลายมากขึ้น อาหารกระป๋องจึงเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับธาตุดีบุกมากกว่าอาหารประเภทอื่น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพิษสะสมของดีบุก เคยมีรายงานการป่วยเนื่องจากพิษเฉียบพลันจากการดื่มน้ำผลไม้กระป๋องซึ่งมีดีบุกปนเปื้อนมากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินและมีไข้ หลายประเทศพยายามควบคุมปริมาณดีบุกในอาหารกระป๋องให้มีน้อยที่สุด แต่ในบางประเทศยังทำได้ยากเพราะอยู่ในเขตร้อน โอกาสที่ดีบุกจะละลายออกมา ย่อมมีมากกว่าประเทศเขตหนาว
โครเมียม(Chromium)
มักพบในธรรมชาติ อากาศ น้ำ และดิน นิยมนำโครเมียมมาผสมในเหล็ก สารประกอบโครเมียมจะมีคุณสมบัติต้านทานต่อสนิม และการกัดกร่อน ถ้ามีปริมาณโครเมียมในร่างกายมากจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อตับและไต อาจเสียชีวิตเนื่องมาจาก ตับและไตอักเสบเกิดอาการตกเลือด เซลล์ตับหยุดทำงาน ทั้งนี้ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่199 ปี2543ได้กำหนดปริมาณโครเมียมในน้ำแร่ธรรมชาติทั้งหมดไม่ควรเกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อน้ำแร่ธรรมชาติ 1ลิตร ปริมาณโครเมียมในน้ำทิ้งจากโรงงาน ชนิดเฮ็กซาวาเล้นท์ Cr (+6) ต้องไม่เกิน 0.25 มก./ล. และชนิดโครเมียมชนิดไตรวาเล้นท์ Cr (+3) ต้องไม่เกิน 0.75 มก./ล.
ปรอท(Mercury)
ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โรงงานผลิตคลอรีน เครื่องใช้ไฟฟ้า สีทาบ้าน และอื่น ๆ เหล่านี้เป็นแหล่งใหญ่ของปรอทที่ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม และไปปนเปื้อนอาหาร ปรอทที่ถูกปล่อยลงในน้ำจะไปสะสมในแพลงก็ตอนและเข้าสู่วงจรอาหาร (มักตรวจพบปรอทในสัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มบริเวณชายฝั่งมากกว่าอาหารชนิดอื่น) บัคเตรีในน้ำบางชนิดเปลี่ยนปรอทในรูปอนินทรีย์ซึ่งมีพิษไม่มากให้เป็นสารอินทรีย์ เช่น เมทิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ซึ่งมีพิษสูงได้ ทั้งนี้การควบคุมกระบวนการผลิตและการกำหนดปริมาณปรอทในน้ำทิ้งจากโรงงานไม่เกิน 0.005 มก. ต่อ ลิตร วัดด้วยวิธี Atomic Absorption Cold Vapour Techique จะช่วยลดปัญหานี้ได้
แคดเมียม(Cadmium)
มักพบอยู่รวมกับสังกะสีในดิน การถลุงแร่สังกะสีจะทำให้แคดเมียมฟุ้งกระจายในอากาศและลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้อุตสาหกรรมการเคลือบโลหะ การผลิตสีผสมพลาสติกและสีทาบ้าน จะมีโลหะนี้ปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อมด้วย แคดเมียมอยู่ในร่างกายได้นานเป็นสิบปี มักไปสะสมที่ตับ และไต อาการพิษที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนแคดเมียมพบไม่มาก การป้องกันทำได้หลายด้าน เช่น การกำหนดปริมาณแคดเมียมในของเสียจากโรงงาน (เช่น แคดเมียมในน้ำทิ้งจากโรงงาน ต้องไม่เกิน 0.03 มก. ต่อลิตร), กำหนดปริมาณแคดเมียมในภาชนะ และ วัสดุที่ใช้สัมผัสหรือห่อหุ้มอาหาร
ตะกั่ว(Lead)
สารตะกั่วที่ปนเปื้อนอาหารนั้นมาจากอากาศร้อยละ 90 ไอเสียรถยนต์เป็นตัวแพร่กระจายที่สำคัญเนื่องจากการใส่สารประกอบตะกั่ว (lead tetraethylene) ในน้ำมันรถยนต์เพื่อกันเครื่องยนต์น็อค ดังนั้น พืชผักที่ปลูกใกล้ถนนจะมีโอกาสปนเปื้อนตะกั่วมาก แต่สามารถล้างขจัดออกได้ นอกจากนั้นอาจพบตะกั่วในดินบางแห่งมาก เช่น บริเวณใกล้โรงงานถลุงแร่ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ในการผลิตกระป๋องบรรจุอาหาร ใช้แผ่นเหล็กเคลือบดีบุกมาเชื่อมต่อกันด้วยโลหะผสมตะกั่ว จึงมีโอกาสที่ตะกั่วบริเวณตะเข็บกระป๋องด้านในจะละลายลงในอาหารได้ จากการตรวจพบตะกั่วในอาหารเกือบทุกประเภท1 ใน 3ของอาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อนเป็นอาหารกระป๋อง เพื่อลดปัญหานี้จึงได้พัฒนาวิธีเชื่อมกระป๋องบรรจุอาหารโดยใช้กระบวนการอิเล็กทรอนิกส์แทนวิธีเดิม สำหรับปริมาณตะกั่วในน้ำทิ้งจากโรงงาน ต้องไม่เกิน 0.2 มก. ต่อ ลิตร
สารหนู(Arsenic)
As เป็นธาตุกึ่งโลหะ ในธรรมชาติอาจมีในน้ำบาดาล แต่มักพบเป็นสินแร่ ในลักษณะเป็นสารประกอบกับธาตุอื่น ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง นิเกิล โดยอาจอยู่ในรูปอาร์เซไนด์ หรือ ซัลไฟด์ หรือ ออกไซด์ ประเทศไทยพบมากในรูปอาเซโนไพไรต์ หรือที่เรียกว่า เพชรหน้าแท่น เป็นสารประกอบของธาตุเหล็ก สารหนู และกำมะถัน ซึ่งเป็นแร่ที่มักพบร่วมกับดีบุก พลวง และวุลแฟรม แร่นี้ผุพังสลายตัวเป็นสารที่ละลายน้ำได้ง่ายจึงละลายอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป หากได้รับในปริมาณมากมีอันตรายถึงตาย ตับหรือไตวาย สำหรับปริมาณสารหนูในน้ำทิ้งจากโรงงาน ไม่เกิน 0.25 มก. ต่อ ลิตร